LEED Certification คืออะไร เพิ่มคะแนนอย่างไร สรุปทุกเรื่องที่ควรรู้

REC Thailand LEED Certification คืออะไร เพิ่มคะแนนอย่างไร สรุปทุกเรื่องที่ควรรู้

34% ของพลังงานที่ใช้ทั่วโลก และ 37% ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับโลก จะมีที่มาจากอาคารและสิ่งปลูกสร้าง อ้างอิงจาก United Nations Environment Programme (UNEP) การรับมือกับวิกฤติภาวะโลกร้อนจึงจำเป็นต้องมุ่งความสนใจไปในระดับอาคารและสิ่งปลูกสร้างด้วย ซึ่งวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมก็คือการใช้มาตรฐานอาคารเขียวหรือ LEED Certification

LEED Certification คืออะไร

LEED Certification คือมาตรฐานอาคารเขียวในระดับสากลที่มุ่งเน้นส่งเสริมอาคารและสิ่งปลูกสร้างให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความเป็นมิตรต่อสุขภาพ และช่วยประหยัดพลังงานได้มากขึ้น โดยคำว่า LEED นั้นจะย่อมาจาก Leadership in Energy and Environmental Design

ปัจจุบันทั่วโลกมีโครงการที่ได้รับการรับรอง LEED Certification ถึงกว่า 190,000 โครงการ กระจายอยู่ใน 186 ประเทศและเขตแดน ความแพร่หลายนี้ทำให้ LEED Certification เป็นหนึ่งในมาตรฐานอาคารเขียวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก โดยจะมีผู้กำหนดมาตรฐานคือ U.S. Green Building Council (USGBC)

LEED Certification มีกี่ประเภท

LEED Certification จะมีความครอบคลุมอาคารและสิ่งปลูกสร้างทุกแบบและทุกระยะ โดยจะแบ่งได้เป็น

  • การออกแบบและก่อสร้างอาคาร (Building Design and Construction, BD+C) สำหรับโปรเจคก่อสร้างอาคารใหม่หรือรีโนเวทครั้งใหญ่
  • การออกแบบและตกแต่งภายใน (Interior Design and Construction, ID+C) สำหรับโปรเจคออกแบบและตกแต่งภายในอาคารแบบเต็มรูปแบบ
  • การดำเนินงานและบำรุงรักษาอาคาร (Building Operations and Maintenance, O+M) สำหรับอาคารที่เสร็จสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่อยู่ระหว่างการปรับปรุงพัฒนา โดยอาจมีการก่อสร้างหรือไม่ก็ได้
  • การพัฒนาพื้นที่ (Neighborhood Development, ND) สำหรับโปรเจคพัฒนาพื้นที่ โดยอาจเป็นโปรเจคสำหรับที่อยู่อาศัย สำหรับจุดประสงค์อื่น หรือผสมกัน
  • บ้าน (Homes) สำหรับโปรเจคบ้านที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่างๆ
  • เมือง (Cities) สำหรับทั้งเมืองหรือแค่เฉพาะพื้นที่เมืองบางส่วน

ซึ่ง LEED Certification สำหรับอาคารและสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภทก็จะมีเกณฑ์การให้คะแนนที่ต่างกันไปบ้าง การขอการรับรองจึงจำเป็นต้องระบุประเภทให้ถูกต้อง (รวมถึงประเภทย่อยด้วย เช่น อาคารที่จะสร้างใหม่ กรณีที่เป็นสถานศึกษากับกรณีที่เป็นสถานพยาบาล ก็จะมีรายละเอียดการให้คะแนนที่ต่างกันในบางส่วน)

LEED Certification ต่างจาก WELL Building Standard อย่างไร

LEED Certification และ WELL Building Standard แม้จะเป็นมาตรฐานด้านอาคารเหมือนกัน แต่ก็จะมีจุดต่างหลักตรงที่ LEED Certification จะมุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ในขณะที่ WELL Building Standard จะมุ่งเน้นไปที่สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในอาคารเป็นหลัก

ประโยชน์ของ LEED Certification

สาเหตุที่ LEED Certification ได้รับความนิยมสูง ก็เนื่องด้วยประโยชน์และข้อดีต่างๆ ดังนี้

  • ลดการใช้พลังงาน อาคารที่ผ่านการรับรอง LEED Certification โดยเฉลี่ยแล้วจะมีการใช้พลังงานน้อยกว่าอาคารทั่วไปถึง 25% ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งในแง่ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการประหยัดค่าใช้จ่าย
  • ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาคารที่ผ่านการรับรอง LEED Certification ยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 34% อีกด้วย ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นับเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน
  • ลดปริมาณขยะ LEED Certification ยังมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะได้อีกเช่นกัน โดยมีตัวเลขคาดการณ์ว่าอาจช่วยลดปริมาณขยะรวมได้มากถึง 540 ล้านตันภายในปี 2030
  • ส่งเสริมคุณภาพอากาศ ด้วยแนวทางของ LEED Certification ที่มีการควบคุมผลกระทบจากการสูบบุหรี่ มีการควบคุมสารระเหยอันตราย รวมถึงมีการติดตามและปรับปรุงคุณภาพอากาศ จึงนับว่ามีส่วนช่วยส่งเสริมคุณภาพอากาศภายในอาคาร
  • ส่งเสริมความพึงพอใจของบุคลากร ผลดีต่างๆ ในด้านสภาวะแวดล้อมที่เกิดจาก LEED Certification ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น การเข้าถึงแสงสว่างธรรมชาติในช่วงกลางวันได้ดีขึ้น ฯลฯ ยังมีผลช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของคนในองค์กร รวมถึงช่วยส่งเสริมการสรรหาและอัตราการคงอยู่ของบุคลากรให้ดีขึ้นอีกด้วย
  • ส่งเสริมรายงาน ESG จากข้อดีต่างๆ ดังที่กล่าวมา LEED Certification จึงมีส่วนช่วยในการบรรลุเป้าหมายตามรายงาน ESG (ย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance) โดยจะเป็นผลดีต่อองค์กรทั้งในด้านการได้รับการยอมรับและการดึงดูดนักลงทุน
  • เพิ่มมูลค่าของอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ข้อมูลปัจจุบันพบว่า อาคารที่ผ่านการรับรอง LEED Certification จะมีราคาต่อตารางฟุตสูงกว่าอาคารทั่วไปโดยเฉลี่ยสูงถึง 21.4%

LEED Certification มีกี่ระดับ อะไรบ้าง

LEED Certification จะใช้ระบบนับคะแนน (มีคะแนนเต็ม 110 คะแนน) โดยจะแบ่งได้เป็น 4 ระดับจากสูงไปต่ำ ได้แก่

  • Platinum (80 คะแนนขึ้นไป)
  • Gold (60-79 คะแนน)
  • Silver (50-59 คะแนน)
  • Certified (40-49 คะแนน)

ซึ่งน้ำหนักคะแนนก็สามารถแบ่งตามหมวดหมู่ของเกณฑ์การประเมินได้หลักๆ คือ

  • ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) 35%
  • ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์โดยตรง 20%
  • ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ 15%
  • ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ 10%
  • ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียว 10%
  • ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ 5%

เกณฑ์การประเมิน LEED Certification มีอะไรบ้าง

ตัวอย่างเกณฑ์การประเมิน LEED Certification (LEED v4.1 for Building Design + Construction: New Construction and Major Renovations) คร่าวๆ ก็จะประกอบไปด้วย (LEED Certification สำหรับอาคารหมวดอื่นอาจมีรายละเอียดที่ต่างไปจากนี้ในบางส่วน)

  • ที่ตั้งและการเดินทาง เช่น ที่ตั้งไม่รุกรานพื้นที่ธรรมชาติ สะดวกต่อการเดินทาง มีส่วนช่วยลดการใช้รถยนต์ ส่งเสริมการใช้จักรยานและรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
  • ความยั่งยืนของพื้นที่ เช่น ควบคุมมลพิษที่เกิดจากการก่อสร้างอย่างเหมาะสม จัดการฝนอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันน้ำท่วม ลดมลพิษทางแสง ปกป้องพื้นที่ธรรมชาติ เป็นต้น
  • ประสิทธิภาพการจัดการน้ำ เช่น ลดการใช้น้ำทั้งในและนอกอาคาร ติดตามประเมินการใช้น้ำ เป็นต้น
  • พลังงานและชั้นบรรยากาศ เช่น ลดการใช้พลังงานเกินความจำเป็น ติดตามประเมินการใช้พลังงาน ใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานฟอสซิล เลี่ยงไม่ใช้ระบบทำความเย็นที่มีผลกระทบต่อชั้นโอโซน เป็นต้น
  • วัตถุดิบและทรัพยากร เช่น ส่งเสริมการใช้ซ้ำ ส่งเสริมการรีไซเคิล ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เป็นต้น
  • สภาวะแวดล้อมของพื้นที่ภายในอาคาร เช่น ลดปริมาณสารระเหยที่เป็นอันตราย ป้องกันและควบคุมผลกระทบจากบุหรี่ ติดตามประเมินคุณภาพอากาศ ควบคุมดูแลระดับอุณหภูมิให้เหมาะสม ควบคุมดูแลระดับแสงไฟให้เหมาะสม ส่งเสริมการเข้าถึงแสงสว่างธรรมชาติในช่วงกลางวัน ออกแบบและดูแลควบคุมอาคารให้ปราศจากเสียงรบกวน เป็นต้น
  • กระบวนการเชิงบูรณาการ มีการประเมินความเกี่ยวข้องระหว่างแต่ละระบบของอาคารอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • นวัตกรรม เช่น มีการใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยส่งเสริมผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
  • ลำดับความสำคัญเฉพาะภูมิภาค ให้ความใส่ใจแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสาธารณสุขที่สำคัญสำหรับภูมิภาคที่ตั้งนั้นๆ

วิธีเพิ่มคะแนน LEED Certification

จากตัวอย่างเกณฑ์การประเมิน LEED Certification ข้างต้นจะเห็นได้ว่าคะแนนจะถูกคิดคำนวณมาจากหลายปัจจัย วิธีการเพิ่มคะแนนจึงต้องอาศัยการประเมินอย่างถี่ถ้วนว่าโปรเจคยังขาดในส่วนใด เพื่อที่จะได้สามารถปรับปรุงพัฒนาได้อย่างเหมาะสม

REC ตัวช่วยเพิ่มคะแนน LEED Certification

REC ย่อมากจาก Renewable Energy Certificate คือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถซื้อและใช้อ้างสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการลด Carbon Footprint และการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น RE100, Carbon Neutrality, Net Zero Emissions รวมไปถึงการเพิ่มคะแนน LEED Certification

โดย REC นั้นสามารถใช้เพิ่มคะแนน LEED Certification V4 ได้ถึง 2 คะแนน สำหรับโปรเจคอาคารในหมวด BD+C และเพิ่มได้ถึง 4 คะแนน สำหรับโปรเจคในหมวด O+M ส่วน LEED Certification V4.1 นั้น REC ก็จะสามารถเพิ่มได้มากสุดถึง 5 คะแนน

ทั้งนี้ REC ที่สามารถใช้เพิ่มคะแนน LEED Certification ได้นั้นจะต้องได้รับการรับรองจากมาตรฐานที่เทียบเท่ากับมาตรฐาน Green-e (เป็นมาตรฐาน REC ที่นิยมใช้ในสหรัฐอเมริกา) โดยหนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับความนิยมนอกประเทศสหรัฐอเมริกาก็คือการรับรอง EKOenergy ซึ่งมีที่มาจากทางยุโรป

ในส่วนนี้ REC Thailand ซึ่งเป็น EKOenergy Seller ในไทยที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ก็สามารถให้คำปรึกษาตลอดจนช่วยจัดหาและส่งมอบไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดภายใต้ EKOenergy Label เพื่อเพิ่มคะแนน LEED Certification หรือเพื่อจุดมุ่งหมายอื่นๆ ได้

REC Thailand ผู้ให้บริการชั้นนำด้าน REC ในไทย

REC Thailand เป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาและส่งมอบ REC ที่มีคุณภาพสูง โดยจะครอบคลุมทั้ง REC ตามมาตรฐาน I-REC และไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ได้รับการรับรอง EKOenergy Label ไม่ว่าองค์กรของท่านจะมีเป้าหมาย Carbon Neutrality, Net Zero Emissions, LEED Certification หรือมีความต้องการเฉพาะในรูปแบบใด เราก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยดูแลในทุกขั้นตอน มั่นใจได้ด้วยประสบการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงานกว่า 20 ปี ภายใต้เครือบริษัท GMS Interneer

หรือหากองค์กรของท่านกำลังมองหา Carbon Credit เราก็สามารถจัดสรรให้ได้เช่นเดียวกันทั้งมาตรฐาน T-VER ของประเทศไทย หรือมาตรฐานระดับสากล เช่น Verra และ Gold Standard ครอบคลุมทั้งรูปแบบโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถติดต่อรับคำปรึกษาได้ที่ GMS Solar

Scroll to Top