Renewable Energy Certificate (REC) คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

Renewable Energy Certificate (REC) คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

การผลิตและใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ หรือชีวมวล นับว่ามีความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ แต่ก็มีอุปสรรคในแง่ของการส่งมอบไฟฟ้าหลังซื้อขายที่ระบุเจาะจงผู้รับได้ลำบาก เนื่องจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้กันทั่วไปจะเป็นแบบรวมศูนย์ (Centralized) ทำให้ไม่สามารถแยกได้ว่าไฟฟ้าหน่วยไหนมาจากแหล่งผลิตใด จนมาถึงการเกิดขึ้นของ REC ที่ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ให้คลี่คลายลง

สำหรับท่านใดที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า REC คืออะไรกันแน่ มีประโยชน์อย่างไรทั้งในมุมของผู้ซื้อและผู้ขาย แล้วสามารถขึ้นทะเบียนหรือซื้อขายได้อย่างไร ทาง REC Thailand ในฐานะของผู้ให้บริการและผู้เชี่ยวชาญด้าน REC ในไทย ก็ได้เรียบเรียงข้อมูลแบบครบถ้วนมาให้ในบทความนี้แล้ว

REC คืออะไร

REC ย่อมาจาก Renewable Energy Certificate คือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ใช้เป็นสิ่งแทนปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงจากพลังงานหมุนเวียนต่างๆ โดย 1 REC จะเท่ากับปริมาณไฟฟ้า 1 MWh

สาเหตุที่มีการกำหนด REC ขึ้นมาก็เพราะว่า ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่จะถูกส่งเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้ารวมก่อนถึงผู้ใช้ ทำให้ปนกับไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่สามารถแยกได้ว่าหน่วยไหนผลิตจากแหล่งใด REC จึงเป็นสื่อกลางที่ช่วยยืนยันได้ว่าใครซื้อและใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนไปเท่าไรบ้าง

ความชัดเจนที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้ REC สามารถถูกใช้เพื่อเป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ซื้อได้ด้วย เช่น การเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม Scope 2 หรือการบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานสะอาด เป็นต้น

ประโยชน์ของ REC

สาเหตุที่ REC ได้รับความนิยมก็เนื่องด้วยข้อดีและประโยชน์ต่างๆ ทั้งในมุมของผู้ซื้อและผู้ขายดังนี้

ประโยชน์ในมุมผู้ซื้อ

  • มีหลักฐานการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน REC สามารถช่วยยืนยันได้ว่าใครซื้อและใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนไปเท่าไรบ้าง โดยไม่จำเป็นต้องรับมอบไฟฟ้าจากผู้ผลิตโดยตรง
  • ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการซื้อและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน REC ช่วยเปิดโอกาสให้องค์กรต่างๆ สามารถซื้อและอ้างสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้ ในขณะที่ยังใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายเสาไฟตามปกติ ส่งผลให้สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนครอบคลุมได้ตามสัดส่วนที่ต้องการ หรือแม้แต่ในกรณีที่เป็นตึกออฟฟิศที่ไม่มีพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์พลังงานสะอาดเลย REC ก็สามารถช่วยให้เป็นองค์กรที่ใช้พลังงานสะอาด 100% ได้ โดยที่ไม่ต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานแม้แต่น้อย
  • ช่วยสนับสนุนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม Scope 2 หรือการแสดงจุดยืนขององค์กรในด้านการใช้พลังงานสะอาด REC ซึ่งมีมาตรฐานสากลอย่าง I-REC รองรับ และมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อช่วยสนับสนุนเป้าหมายเหล่านี้ได้
  • ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หากองค์กรต่างๆ แสดงเจตจำนงชัดเจนในการกำหนดเป้าหมายด้านพลังงาน และร่วมกันผลิตและใช้พลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นด้วยองค์กรของตนเอง หรือผ่านการซื้อ REC ก็จะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในระยะยาว เพราะการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดจะช่วยทดแทนการใช้แหล่งพลังงานดั้งเดิมที่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เป็นต้น
  • ส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อม REC เป็นสิ่งที่ช่วยแสดงให้เห็นถึงความตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นหนทางในการแสดงความรับผิดชอบขององค์กรอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียง ทำให้เกิดการยอมรับเพิ่มขึ้นทั้งในหมู่ผู้บริโภค นักลงทุน ตลอดจนบุคลากรในองค์กรเอง
  • มีส่วนร่วมผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน การซื้อ REC ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเติบโตด้วยเช่นกัน เพราะจะเป็นการช่วยอุดหนุนรายได้ให้แก่บรรดาผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

ประโยชน์ในมุมผู้ขาย

  • เพิ่มโอกาสทำรายได้ ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสามารถขาย REC แยกจากไฟฟ้าได้ จึงช่วยให้มีช่องทางรายได้เพิ่มขึ้น โดยสามารถขายให้กับผู้ซื้อได้หลากหลาย เนื่องจาก REC นั้นสามารถขายให้กับองค์กรที่มีการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยได้ทั่วประเทศ
  • เพิ่มความโปร่งใสและความเชื่อมั่น การขอใบรับรอง REC ในไทย จะต้องผ่านการตรวจสอบโดย กฟผ. ภายใต้การกำกับดูแลและกำหนดมาตรฐานโดย The International Tracking Standard Foundation (I-TRACK Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรระดับนานาชาติที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง REC จึงนับว่าเป็นหลักฐานยืนยันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีความโปร่งใส และสามารถช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อ
  • ช่วยให้อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเติบโตดีขึ้น ด้วยโอกาสในการทำรายได้และความเชื่อมั่นของผู้ซื้อที่เพิ่มขึ้นนี่เอง REC จึงนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้ภาคอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเติบโตขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

การขอใบรับรอง REC

ผู้ผลิตที่ต้องการขอใบรับรอง REC จะต้องเริ่มที่การขอขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยดำเนินการผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. หรือ EGAT) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับรอง REC แต่เพียงผู้เดียวในไทยโดย I-TRACK Foundation เมื่อขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเรียบร้อยแล้ว จึงจะสามารถดำเนินการขอใบรับรอง REC ต่อไปได้

การซื้อขาย REC

ประเทศไทยจะใช้ระบบการซื้อขาย REC แบบเจรจาตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ซื้อจะต้องแจ้งความประสงค์ 3 อย่างนี้

  • เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่สนใจ ซึ่งปัจจุบันจะมีให้เลือกอยู่ 4 แบบ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และชีวมวล โดยสามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือผสมรวมกันก็ได้
  • ปีที่ต้องการอ้างสิทธิ์การใช้พลังงานหมุนเวียน
  • จำนวน REC ที่ต้องการ โดยอิงจากปริมาณการใช้ไฟฟ้า

ทางฝ่ายผู้ขายจะดำเนินการจัดสรรหรือขอการรับรองจาก กฟผ. แล้วส่งมอบ REC ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบจนครบถ้วนสมบูรณ์แล้วให้กับผู้ซื้อ ผู้ซื้อก็ชำระค่าบริการทั้งหมดให้กับผู้ขายและนำ REC ไปใช้ประโยชน์ได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม : ซื้อขาย REC ในไทย ทำได้อย่างไร เช็กราคาได้ที่ไหน

ใครบ้างที่ต้องซื้อ REC

จริงอยู่ที่ REC มีประโยชน์สำหรับแทบทุกองค์กรที่ต้องการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด แต่องค์กรที่มีลักษณะเข้าข่ายตามเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ก็จะมีความเหมาะสมมากเป็นพิเศษ

  • องค์กรที่มีการกำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)
  • องค์กรที่มีรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission)
  • องค์กรในกลุ่มสมาชิก RE100
  • องค์กรที่มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน ESG
  • องค์กรที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดมาตรฐานส่งออก
  • องค์กรที่อยู่ในโครงข่าย Supply Chain ขององค์กรทั้งหมดข้างต้น

ด้วยข้อมูลงานวิจัยในระยะหลังที่พบว่า ประมาณ 60% ของ Carbon Emission ทั่วโลกจะเกิดจาก Supply Chain ปัจจุบันองค์กรต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก Supply Chain มากขึ้น องค์กรที่อยู่ใน Supply Chain จึงควรเร่งปรับตัวเข้าสู่ความยั่งยืน เพื่อให้เกิดการยอมรับและไม่ให้เสียโอกาสในทางธุรกิจ ซึ่ง REC ก็จะสามารถเข้ามาช่วยในจุดนี้ได้

ตัวอย่างใบประกาศ REC

ใบประกาศ REC ที่ออกโดย I-TRACK Foundation จะเป็นสิ่งยืนยันการซื้อขาย REC ที่ได้รับมาตรฐานถูกต้อง โดยรายละเอียดจะระบุครอบคลุมข้อมูลสำคัญต่างๆ ได้แก่ ชื่อผู้ซื้อในนามองค์กรหรืองานอีเว้นท์ต่างๆ สถานที่ตั้งองค์กร รวมถึงจะระบุรายละเอียดของ REC ที่มีการซื้อขายกัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ปริมาณ วันเดือนปีที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด รวมถึงสามารถตรวจสอบรายละเอียดของโรงไฟฟ้าที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดนั้นให้กับเราได้ผ่านทาง Verification QR Code

ตัวอย่างใบรับรอง REC Certificate

บทสรุป

REC หรือ Renewable Energy Certificate คือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน เป็นกลไกสำคัญสำหรับการซื้อขายพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ ในด้านสิ่งแวดล้อมได้ เช่น การเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม Scope 2 การใช้พลังงานสะอาดครอบคลุมความต้องการ 100% (RE100) เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ก็จะช่วยให้ผู้ผลิตมีช่องทางรายได้เพิ่มขึ้น จึงถือเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเติบโต ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมครอบคลุมระยะยาว

REC Thailand ผู้ให้บริการชั้นนำด้าน REC

REC Thailand เป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาและส่งมอบ REC ที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าองค์กรของคุณจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ผลิต หรือมีความต้องการเฉพาะในรูปแบบใด เราก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยดูแลในทุกขั้นตอน มั่นใจได้ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี ในอุตสาหกรรมพลังงานผ่านหลายบริษัทในเครืออย่าง GMS Interneer และ GMS Solar

ที่ผ่านมา REC Thailand ได้ร่วมเคียงข้างหลากหลายองค์กรในการแก้โจทย์ความต้องการด้านพลังงานสะอาด ผ่านการซื้อ REC โดยเราสามารถนำเสนอให้ได้ทุกเทคโนโลยีที่มีการผลิตในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานชีวมวล นอกจากนี้เรายังมีเครือข่ายโรงไฟฟ้าที่มีการขึ้นทะเบียนกับ I-REC หลากหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือสิงคโปร์

หรือหากองค์กรของท่านกำลังมองหา Carbon Credit เราก็สามารถจัดสรรให้ได้เช่นเดียวกันทั้งมาตรฐานประเทศไทย หรือ T-VER หรือมาตรฐานที่เป็น International Standard เช่น Verra และ Gold Standard ทั้งรูปแบบโครงการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ก็สามารถมองหาได้ที่ GMS Solar

คำถามที่พบบ่อย

ทาง REC Thailand มักได้รับคำถามเหล่านี้จากองค์กรต่างๆ อยู่บ่อยๆ ซึ่งประกอบไปด้วย

หน่วยงานใดเป็นผู้ให้การรับรอง REC ในไทย

สำหรับประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. หรือ EGAT) จะเป็นหน่วยงานที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับรอง REC แต่เพียงผู้เดียวจาก I-TRACK Foundation ซึ่งเป็นองค์กรระดับสากลจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เป็นเจ้าของมาตรฐาน I-REC โดยจะมีหน้าที่ครอบคลุมตั้งแต่การรับขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนการตรวจสอบและให้การรับรอง REC

I-REC กับ REC ต่างกันอย่างไร

สำหรับในไทย คำว่า I-REC จะเป็นเหมือนการเรียกชื่อมาตรฐาน REC ที่ผ่านการตรวจสอบโดย กฟผ. และได้รับการยอมรับจาก I-TRACK Foundation ส่วนคำว่า REC จะเป็นคำที่ใช้เรียกใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน

แต่ในระดับสากล บางครั้งคำว่า I-REC, REC และ GO จะเป็นคำเรียกใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนตามมาตรฐานรับรองของแต่ละประเทศและเขตแดน ได้แก่

  • I-REC ย่อมาจาก International Renewable Energy Certificate คือ REC ที่ได้รับการรับรองจาก I-TRACK Foundation ซึ่งเป็นองค์กรระดับนานาชาติที่ไม่แสวงหาผลกำไร และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันถูกใช้เป็นมาตรฐานหลักในกว่า 60 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเทศนอกทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป
  • REC ย่อมาจาก Renewable Energy Certificate เป็นคำเรียกหลักสำหรับ REC ที่ได้รับการรับรองในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยมาตรฐานและหน่วยงานที่รับรองก็จะต่างกันไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของแต่ละรัฐ
  • GO ย่อมาจาก Guarantee of Origin คือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ออกในทวีปยุโรป โดยจะใช้มาตรฐานกลาง European Energy Certificate System (EECS) ซึ่งถูกกำหนดโดย Association of Issuing Bodies (AIB) ที่มีสมาชิกจากหลากหลายประเทศในทวีปยุโรป

อ่านเพิ่มเติม : I-REC ต่างจาก REC อย่างไร รวมทุกเรื่องที่ควรรู้

REC กับ Carbon Credit ต่างกันอย่างไร

REC คือใบรับรองปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงจากพลังงานหมุนเวียน มีหน่วยเทียบคือ 1 REC = 1 MWh ส่วน Carbon Credit คือสิทธิ์ที่แสดงถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บไว้ได้จากโครงการ มีหน่วยเป็น tCO2e

REC และ Carbon Credit มีความคล้ายคลึงกันอยู่ในเรื่องของ Carbon Offset คือการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่จะมีความต่างคือ ในขณะที่ REC จะใช้อ้างสิทธิ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เฉพาะใน Scope 2 แต่ Carbon Credit จะใช้อ้างสิทธิ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ครอบคลุมทั้ง Scope 1-3

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการซื้อ REC นั้นกลับได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากสามารถเริ่มต้นทำได้เลยโดยไม่ต้องคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร อีกทั้งองค์กรต่างๆ ยังสามารถทราบค่าการซื้อไฟฟ้าและตั้งเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดที่ชัดเจนได้ง่าย

อ่านเพิ่มเติม : REC กับ Carbon Credit ต่างกันอย่างไร

Scroll to Top