ขณะที่ทั่วโลกกำลังตระหนักถึงผลกระทบของสถานการณ์สภาวะโลกร้อน พร้อมร่วมกันผลักดันนโยบายที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ในอนาคต องค์กรขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ก็หันมาใส่ใจลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น โดยดูแลครอบคลุมกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนหนึ่งก็เพื่อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อโอกาสในเชิงธุรกิจขององค์กรเอง เครดิตทางสิ่งแวดล้อมจึงมีบทบาทสำคัญขึ้นมา ซึ่งนอกจาก Carbon Credit ก็จะมี REC ที่กำลังได้รับความสนใจไม่แพ้กัน
ความต่างระหว่าง REC และ Carbon Credit
REC คือใบรับรองปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงจากพลังงานหมุนเวียน มีหน่วยเทียบคือ 1 REC = 1 MWh ส่วน Carbon Credit คือสิทธิ์ที่แสดงถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากโครงการที่ลดหรือกักเก็บไว้ได้ มีหน่วยเป็น tCO2e
ทั้ง REC และ Carbon Credit นั้นเป็นทางเลือกที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้เหมือนกัน แต่แตกต่างตรงที่ Carbon Credit สามารถใช้ได้กับทุกกิจกรรมขององค์กรนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรง กิจกรรมภายในที่ปล่อยก๊าซทางอ้อม หรือแม้แต่กิจกรรมภายนอกที่เกี่ยวข้อง เช่น กิจกรรมของผู้ผลิตวัตถุดิบ กิจกรรมจากการขนส่ง เป็นต้น ส่วน REC จะใช้ประโยชน์ได้กับกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น สามารถทำความเข้าใจผ่านมาตรฐานการทำบัญชีก๊าชเรือนกระจกได้ โดยรายละเอียดจะแบ่งการนับเป็น 3 Scope ดังนี้
- Scope 1: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง นับปริมาณการปล่อยก๊าซจากกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กร ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมภายในพื้นที่ เช่น กระบวนการผลิตสินค้า ระบบทำความเย็น เตาเผา ยานพาหนะสำหรับขนส่งภายใน เป็นต้น
- Scope 2: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากพลังงานที่ซื้อมาใช้ นับปริมาณการปล่อยก๊าซจากการผลิตไฟฟ้าภายนอก ซึ่งองค์กรได้ซื้อไฟฟ้านั้นมาใช้ประโยชน์กับระบบภายใน เช่น ไฟฟ้าสำหรับเดินเครื่องจักรภายในโรงงาน ไฟฟ้าสำหรับระบบทำความร้อน เป็นต้น
- Scope 3: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากห่วงโซ่คุณค่า หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการปล่อยก๊าซภายนอกที่องค์กรไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การขนส่งวัตถุดิบจากแหล่งผลิตอื่นมายังโรงงาน การเดินทางของพนักงานในองค์กร เป็นต้น
เมื่อพิจารณาตาม Scope เหล่านี้ก็จะสรุปเบื้องต้นได้ว่า Carbon Credit สามารถใช้ได้ตั้งแต่ Scope 1 ไปจนถึง Scope 3 ส่วน REC จะใช้ได้เพียงแค่ใน Scope 2 เท่านั้น
รวมข้อมูล REC ที่ควรรู้
หากเทียบกันระหว่าง Carbon Credit กับ REC ตามที่กล่าวไปคือจุดประสงค์ของทั้งคู่มีความแตกต่างกัน REC จะตอบโจทย์ด้านการใช้และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ในขณะที่ Carbon Credit จะมองภาพรวมของการปล่อยคาร์บอน จึงทำให้การซื้อ REC และ Carbon Credit ไม่สามารถทดแทนกันได้ ดังนั้นการเลือกซื้อเครดิตทั้งสองประเภทนี้หากองค์กรมีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร จะทำให้ท่านทราบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนมากเกิดขึ้นที่กิจกรรมใด และวางแผนไปสู่แนวทางการลดได้อย่างถูกจุดมากที่สุด ทั้งนี้ การซื้อ REC ในปัจจุบันได้รับความนิยมมากกว่าเพราะสามารถเริ่มต้นทำได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร รวมถึงสามารถทราบค่าการซื้อไฟฟ้าขององค์กรและมีเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดที่ชัดเจน ดังนั้นองค์กรส่วนมากเลยเลือกที่จะบรรลุเป้าหมายทางด้านพลังงานสะอาดเป็นอันดับแรก
REC คืออะไร
REC หรือ Renewable Energy Certificate คือ กลไกการซื้อขายใบรับรองด้านพลังงานหมุนเวียน สำหรับยืนยันสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด โดยมีหน่วยเทียบคือ 1 REC เท่ากับ 1 MWh ซึ่งเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในประเทศไทยที่ได้การยอมรับตามมาตรฐานจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานชีวมวล
ประเด็นเรื่องความถูกต้องแม่นยำและความน่าเชื่อถือของกลไกการซื้อขาย จะมีมาตรฐานระดับสากล I-REC หรือ The International Renewable Energy Certificate Standard รองรับ รวมถึงมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. หรือ EGAT) จึงหมดห่วงเรื่องปัญหาต่างๆ เช่น การนับซ้ำ (Double Counting) เอกสารด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบ เป็นต้น
ประโยชน์ของ REC
- เป็นกลไกที่ช่วยให้สามารถอ้างสิทธิ์สำหรับผู้ผลิตหรือผู้ใช้งานพลังงานไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนได้ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก จึงมีความถูกต้องแม่นยำและน่าเชื่อถือ
- เป็นทางเลือกให้กับองค์กรที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด โดยเน้นลดปริมาณก๊าชเรือนกระจกที่เกิดขึ้นใน Scope 2 ซึ่งทำให้ค่า Carbon Footprint ขององค์กรลดลงด้วย
- ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร พร้อมขยายโอกาสทางธุรกิจไปสู่ระดับโลก
- ช่วยสนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ช่วยเพิ่มช่องทางรายได้จากการซื้อขาย REC ให้แก่ผู้ผลิต
- เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทางด้านความยั่งยืนทางพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น RE100 หรือ Net Zero
อ่านเพิ่มเติม : Renewable Energy Certificate (REC) คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร
การขึ้นทะเบียน REC
เนื่องจาก กฟผ. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับรอง REC จากเจ้าของมาตรฐาน I-REC ทำหน้าที่รับเปิดบัญชีเพื่อขึ้นทะเบียนโรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ดำเนินการตรวจสอบ พร้อมกับให้การรับรอง REC ดังนั้นผู้ผลิตที่ต้องการขึ้นทะเบียนและเข้าสู่กลไกการซื้อขาย REC จะต้องยื่นความประสงค์ไปยัง กฟผ. โดยตรง เพื่อขอเปิดบัญชี Registrant Account โดยสามารถเตรียมเอกสารตามที่ กฟผ. ได้ระบุไว้ หลังจัดการเรื่องเอกสารเรียบร้อยแล้วจะมีการตรวจสอบด้านอื่นๆ อย่างละเอียดต่อไป ก่อนจะให้การรับรอง REC อย่างเป็นทางการ จากนั้นก็สามารถทำการขาย REC ได้
การซื้อขาย REC
ด้วยตัวคูณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากไฟฟ้า 1 MWh (Grid Emission Factor) ที่แตกต่างกันในแต่ละเขตพื้นที่ โดยทั่วไปแล้วจึงไม่แนะนำให้ซื้อ REC จากประเทศหรือเขตแดนอื่นมาใช้งาน เว้นแต่จะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการจัดว่าเป็นตลาดพลังงานเดียวกันแล้ว อย่างเช่น สหภาพยุโรปทั้งหมดถือเป็นตลาดพลังงานเดียวกัน สหรัฐอเมริกาและแคนาดาถือเป็นตลาดพลังงานเดียวกัน เป็นต้น นอกจากกรณีเหล่านี้แล้ว ดีที่สุดจึงเป็นการซื้อขาย REC เฉพาะภายในประเทศ เพื่อเลี่ยงปัญหาความยุ่งยากต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับประเทศไทยจะเป็นการซื้อขาย REC แบบที่เจรจากับผู้ขายโดยตรง โดยจะต้องแจ้งความประสงค์ 3 อย่างนี้
- ผู้ซื้อต้องเลือกเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่สนใจ ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานชีวมวล โดยสามารถเลือกว่าต้องการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือผสมหลายอย่างรวมกันก็ได้
- ผู้ซื้อเลือกปีที่ต้องการอ้างสิทธิ์การใช้พลังงานสะอาด
- ผู้ซื้อระบุจำนวน REC ที่ต้องการ โดยอ้างอิงจากปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า
ฝ่ายผู้ขายจะดำเนินการจัดสรรหรือขอการรับรองจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แล้วส่งมอบ REC ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบจนครบถ้วนสมบูรณ์แล้วให้กับผู้ซื้อ ผู้ซื้อก็ชำระค่าบริการทั้งหมดให้กับผู้ขายและนำ REC ไปใช้ประโยชน์ได้ทันที
รวมข้อมูล Carbon Credit ที่ควรรู้
จุดเด่นของ Carbon Credit คือสามารถใช้ชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ทุก Scope จึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับเป้าหมาย Carbon Neutrality รวมไปถึงการต่อยอดสู่ Net Zero ซึ่งต่อไปนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับ Carbon Credit
Carbon Credit คืออะไร
Carbon Credit คือ สิทธิ์ที่แสดงถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กิจกรรมหรือโครงการสามารถลดหรือกักเก็บไว้ได้ หากองค์กรดำเนินโครงการใดๆ ก็ตาม แล้วส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนต่างตรงนี้จะนำไปคำนวณเป็น Carbon Credit ซึ่งถ้าผ่านการรับรองจากหน่วยงานมาตรฐานก็จะสามารถนำเข้าสู่กลไกการซื้อขายในตลาดคาร์บอนได้ด้วย องค์กรที่สร้าง Carbon Credit ได้ก็จะเป็นฝ่ายขายสิทธิ์ให้กับองค์กรที่ต้องการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง
ประโยชน์ของ Carbon Credit
- ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร ในฐานะของภาคธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
- ช่วยผลักดันเป้าหมายด้านพลังงานขององค์กร ไม่ว่าจะเป็น Carbon Neutrality หรือ Net Zero
- เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศได้
- สามารถซื้อขายให้กับองค์กรอื่นทั้งในและต่างประเทศได้ ที่สำคัญคือตลาดต่างประเทศให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากต้นทุน Carbon Pricing ของไทยยังไม่สูงมากนัก
- หากองค์กรวางแผนโครงการสร้าง Carbon Credit เอง ก็เท่ากับเป็นการปรับเปลี่ยนระบบสู่องค์กรสีเขียวแบบยั่งยืน
การขอรับรอง Carbon Credit
การขอรับรอง Carbon Credit นั้นมีความยุ่งยากกว่าการขึ้นทะเบียน REC พอสมควร เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดเรื่องเขตพื้นที่การใช้งาน และไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการใช้งานด้วย รูปแบบการรับรองจึงต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับพื้นที่ซื้อขายและวัตถุประสงค์ที่ต่างกันไป โดยแบ่งเป็นการขอรับรองเพื่อซื้อขายภายในประเทศ และการขอรับรองเพื่อซื้อขายกับต่างประเทศ
- กรณีขอรับรองเพื่อซื้อขายภายในประเทศ จะต้องขึ้นทะเบียนและผ่านการรับรองโดย อบก. หรือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยใช้มาตรฐาน T-VER (Thailand Voluntary Emission Reductions)
- กรณีขอรับรองเพื่อซื้อขายกับต่างประเทศ จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากล ซึ่งมาตรฐานที่รู้จักกันมากและกำลังได้รับความนิยมคือ VERRA (The Verified Carbon Standard) รองลงมาคือ CDM (Clean Development Mechanism) และ GS (Gold Standard) แต่ละมาตรฐานจะมีเงื่อนไขในการรับรองโครงการไม่เหมือนกัน ต้องพิจารณาอีกทีว่ารายละเอียดของโครงการสามารถใช้มาตรฐานไหนได้บ้าง
การซื้อขาย Carbon Credit
ปัจจุบันการซื้อขาย Carbon Credit สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือแบบที่ผู้ซื้อติดต่อกับผู้ขายโดยตรง คล้ายกับการซื้อขาย REC โดยสามารถเข้าไปดูรายชื่อผู้ซื้อผู้ขายได้ที่ตลาดคาร์บอน ในนั้นจะมีชื่อผู้พัฒนาโครงการ ลักษณะของโครงการ และช่องทางการติดต่อไว้ให้ ซึ่งรายละเอียดการซื้อขายทั้งหมดจะเป็นการตกลงร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย กับอีกแบบหนึ่งเป็นการซื้อขายผ่าน Trading Platform ศูนย์การซื้อขายที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการและเปิดให้บริการโดย อบก.
สำหรับตลาดคาร์บอนจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) เป็นตลาดที่จัดตั้งขึ้นจากผลบังคับทางกฎหมาย เกี่ยวกับมาตรการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ผู้เข้าร่วมในตลาดจะมีพันธะผูกพันตามกฎหมาย และหากปฏิบัติไม่ได้ตามเป้าหมายก็จะมีบทลงโทษด้วย
- ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) เป็นตลาดที่เกิดจากความสมัครใจร่วมกันของผู้ประกอบการและองค์กรต่างๆ อาจตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นมาก็ได้ แต่จะไม่มีผลบังคับใดๆ ทางกฎหมาย และไม่มีการกำหนดบทลงโทษทุกกรณี ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยเป็นตลาดรูปแบบนี้
บทสรุป
REC Thailand ผู้ให้บริการด้านเครดิตสิ่งแวดล้อม
REC Thailand เป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาและส่งมอบ REC ที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าองค์กรของคุณจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ผลิต หรือมีความต้องการเฉพาะในรูปแบบใด เราก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยดูแลในทุกขั้นตอน มั่นใจได้ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี ในอุตสาหกรรมพลังงานผ่านหลายบริษัทในเครืออย่าง GMS Interneer และ GMS Solar
ที่ผ่านมา REC Thailand ได้ร่วมเคียงข้างหลากหลายองค์กรในการแก้โจทย์ความต้องการด้านพลังงานสะอาด ผ่านการซื้อ REC โดยเราสามารถนำเสนอให้ได้ทุกเทคโนโลยีที่มีการผลิตในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานชีวมวล นอกจากนี้เรายังมีเครือข่ายโรงไฟฟ้าที่มีการขึ้นทะเบียนกับ I-REC หลากหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือสิงคโปร์
หรือหากองค์กรของท่านกำลังมองหา Carbon Credit เราก็สามารถจัดสรรให้ได้เช่นเดียวกันทั้งมาตรฐานประเทศไทย หรือ T-VER หรือมาตรฐานที่เป็น International Standard เช่น Verra และ Gold Standard ทั้งรูปแบบโครงการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ก็สามารถมองหาได้ที่ GMS Solar